Blogger--> Supaporn Ouinong

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

แผนการจัดการเรียนรู้


            2.1   ความหมายของแผนการจัดเรียนรู้
              กรมวิชาการ (2544) ได้ให้ความหมายของแผนการจัดการเรียนรู้  คือ การนำวิชาหรือกลุ่มวิชาที่จะต้องทำการสอนตลอดภาคเรียน  มาสร้างเป็นแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่ออุปกรณ์การสอนและการวัดผลประเมินผล  สำหรับเนื้อหาสาระและจุดประสงค์การเรียน
ย่อย ๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือจุดเน้นของหลักสูตร  สภาพของผู้เรียน  ความพร้อมของโรงเรียนในด้านวัสดุอุปกรณ์และตรงกับชีวิตจริงในท้องถิ่น  ซึ่งถ้ากล่าวอีกนัยหนึ่ง แผนการจัดการเรียนรู้ หมายถึง  การเตรียมการสอนเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า  หรือคือบันทึกการสอนตามปกตินั่นเอง
               สำลี  รักสุทธีและคณะ  (2546) ได้ให้ความหมายของแผนการจัดการเรียนรู้ว่า  คือการนำวิชาหรือกลุ่มประสบการณ์ที่จะต้องทำการสอนตลอดภาคเรียน มาสร้างเป็นแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  การใช้สื่ออุปกรณ์การสอนและการวัดและประเมินผลสำหรับเนื้อหาสาระและจุดประสงค์การเรียนย่อย ๆ  ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือจุดเน้นของหลักสูตร  สภาพผู้เรียน ความพร้อมของโรงเรียนในด้านวัสดุอุปกรณ์และตรงกับชีวิตจริงในท้องถิ่น
               สุวิทย์  มูลคำและคณะ  (2549)  กล่าวว่า  แผนการจัดการเรียนรู้ คือ แผนการเตรียมการสอนหรือการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบและจัดทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  โดยมีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ มากำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน  เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้  โดยเริ่มจากวัตถุประสงค์ว่าจะให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านใด (สติปัญญา/เจตคติ/ทักษะ) จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิธีใด ใช้สื่อการสอนหรือแหล่งเรียนรู้ใด และจะประเมินผลอย่างไร  
               สรุปได้ว่า  แผนการจัดการเรียนรู้ คือ แผนการหรือโครงสร้างที่จัดทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อการปฏิบัติการสอนในวิชาหนึ่ง  เป็นการเตรียมการสอนอย่างเป็นระบบและเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครูพัฒนาการจัดการเรียนการสอนไปสู่จุดมุ่งหมายการเรียนรู้และจุดมุ่งหมายของหลักสูตรอย่างมีประสิทธิภาพ



           2.2 ความสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้
               ประภาพร  สุขพูล  (2544)  ได้สรุปความสำคัญของแผนการสอน  ดังนี้
                   1.  ส่งเสริมให้ครูใฝ่ศึกษาหาความรู้  ทั้งหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียน
การสอนได้เหมาะสม
                   2.  ครูได้เตรียมการสอนไว้ล่วงหน้า
                   3.  อำนวยความสะดวกแก่ครูที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการสอน
                   4.  ให้เป็นคู่มือสำหรับครูที่มาสอนแทน  เมื่อติดธุระหรือลา
                   5.  ทำให้การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นไปตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
                   6.  เพื่อเป็นแนวทางในการแนะนำหรือนิเทศการเรียนการสอน
               สุวิทย์  มูลคำและคณะ (2549)  ให้ความสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้ไว้ดังนี้
                   1.  ทำให้เกิดการวางแผนวิธีสอนที่ดี วิธีเรียนที่ดีที่เกิดจากการผสมผสานความรู้และจิตวิทยาการศึกษา
                   2.  ช่วยให้ครูผู้สอนมีคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนการรู้ที่ทำไว้ล่วงหน้าด้วยตนเอง              และทำให้ครูมีความมั่นใจในการจัดการเรียนรู้ได้ตามเป้าหมาย
                   3.  ช่วยให้ครูผู้สอนทราบว่าการสอนของตนได้เดินไปในทิศทางใด หรือทราบว่าจะสอนอะไร ด้วยวิธีใด สอนทำไม สอนอย่างไร จะใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้อะไรและจะวัดผลและประเมินผลอย่างไร
                   4.  ส่งเสริมให้ครูผู้สอนใฝ่ศึกษาหาความรู้ทั้งเรื่องหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนรู้จะจัดหาและใช้สื่อแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนการวัดผลประเมินผล
                   5.  ใช้เป็นคู่มือสำหรับครูที่มาสอน  (จัดการเรียนรู้) แทนได้
                   6.  แผนการจัดการเรียนรู้ที่นำไปใช้และพัฒนาแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อวงการศึกษา
                   7.  เป็นผลงานทางวิชาการที่แสดงถึงความชำนาญและความเชี่ยวชาญของครูผู้สอนสำหรับประกอบการประเมินเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งและวิทยฐานะครูให้สูงขึ้น  
               สรุปได้ว่า  แผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการสอนมีความสำคัญช่วยให้ครูผู้สอนมีคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำไว้ล่วงหน้าด้วยตนเอง และทำให้ครูมีความมั่นใจในการจัดการเรียนรู้ได้ตามเป้าหมาย และยังช่วยให้ครูผู้สอนทราบว่าการสอนของตนได้เดินไปในทิศทางใดหรือทราบว่า จะสอนอะไร  ด้วยวิธีใด  สอนทำไม  สอนอย่างไร  จะใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้อะไร และจะวัดผลและประเมินผลอย่างไรเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด


        2.3  ลักษณะของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี
              แผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรประกอบด้วยกิจกรรมหลาย ๆ  อย่างและหลาย ๆ วิธีการ ก่อนที่จะใช้แผนการจัดการเรียนรู้ใด ควรจะมีการประเมินผู้เรียนก่อนเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกวิธีการและกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม เพื่อผู้เรียนจะได้ ไปสู่พฤติกรรมที่คาดหวัง 
              แผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีจะต้องมีรายละเอียดชัดเจนถึงกิจกรรมนักเรียน บทบาทของครู การใช้สื่อการวัดผล  จนผู้อ่านมองเห็นภาพพฤติกรรมจริง ๆ  ในห้องเรียนได้สมบูรณ์  จึงถือว่าเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีและไม่จำเป็นต้องทำบันทึกการสอนอีกก็ได้ เพราะแผนการจัดการเรียนรู้ ที่ชัดเจนใช้แทนบันทึกการสอนได้  แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ ที่เข้าลักษณะ 4 ประการ คือ (สุวิทย์  มูลคำและคณะ 2549)
  1.  เป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีกิจกรรมให้ผู้เรียนเป็นผู้ได้ลงมือปฏิบัติให้มากที่สุด 
โดยครูเป็นเพียงผู้คอยชี้นำส่งเสริมหรือกระตุ้นให้กิจกรรมดำเนินไปตามความมุ่งหมาย
               2.  เป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้ค้นพบคำตอบหรือทำสำเร็จ         ด้วยตนเองโดยครูพยายามลดบทบาทจากผู้บอกคำตอบ  มาเป็นผู้คอยกระตุ้นด้วยคำถามหรือปัญหา         ให้ผู้เรียนคิดแก้หรือหาแนวทางไปสู่ความสำเร็จในการทำกิจกรรมเอง
               3.  เป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการมุ่งให้ผู้เรียนรับรู้และนำกระบวนการไปใช้จริง
  4.  เป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถจัดหาได้ใน
ท้องถิ่น  หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุอุปกรณ์สำเร็จรูปราคาสูง
                สำลี  รักสุทธีและคณะ (2546) ได้กล่าวถึง  คำตอบจากที่มีผู้สงสัยว่า จะประเมินตัดสินคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ได้อย่างไร ว่าเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ ว่าได้ตัดสินโดยการนำแผนการจัดการเรียนรู้นั้นไปใช้จริงในการจัดการเรียนการสอน ว่าสามารถดำเนินการให้นักเรียน ได้มีส่วนร่วมปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ  ได้ดีเพียงใดและสามารถให้นักเรียนได้เกิดทักษะกระบวนการและเกิดการเรียนรู้ต่าง ๆ ครบถ้วนตามจุดประสงค์เพียงใด  ถ้าครูมีบทบาทมากในการเป็นผู้ให้ความรู้โดยตรงและนักเรียนไม่มีโอกาสแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนการฝึกปฏิบัติให้เกิดทักษะกระบวนการ ก็จะเป็นเครื่องแสดงความด้อยคุณภาพของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 
               จากข้อมูลดังกล่าวสรุปได้ว่า แผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีนั้น นอกจากต้องครอบคลุมกิจกรรมการเรียนรู้ 4 ลักษณะ คือ ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติเอง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนค้นพบความรู้ ด้วยตนเอง  เน้นทักษะกระบวนการและส่งเสริมให้ผู้เรียน  เน้นการใช้วัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นแล้วแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญด้วย จึงจะทำให้การจัดกิจกรรมประสบผลสำเร็จตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดไว้


        2.4 การทำแผนการจัดการเรียนรู้
               สำลี  รักสุทธีและคณะ (2546)  กล่าวว่า การทำแผนการจัดการเรียนรู้มีขั้นตอน ดังนี้
               1.  ศึกษาหลักสูตร ต้องศึกษาหลักสูตรอย่างกว้างขวางและอย่างลึกในวิชาและรายวิชา         ที่สอน  เช่น  ศึกษาโครงสร้างของวิชา จุดประสงค์ของวิชา สื่อการเรียนการสอนที่กำหนดในรายวิชา  คำอธิบายรายวิชาและธรรมชาติของวิชา เป็นต้น
               2. วิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหา เวลาและกิจกรรม วิเคราะห์ได้จากคำอธิบายรายวิชา  โดยให้สัมพันธ์กับจุดประสงค์ของวิชาและจุดประสงค์ของหลักสูตร 
               3. หากลวิธีสอน กลวิธีสอนจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตร โดยใช้ทักษะกระบวนการและทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ตลอดทั้งประสมประสานระหว่างประสบการณ์และจินตนาการของผู้สอนเอง    คงจะไม่มีวิธีสอนใดวิเศษสุดในโลก  แต่วิธีการสอนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้มากที่สุดจะต้องยึดหลักให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติ  ให้ค้นพบคำตอบด้วยตนเอง  ให้รู้จักการวางแผนและฝึกทักษะเป็นกลุ่มและรายบุคคล  เพื่อให้นักเรียนได้เป็นผู้คิดเป็น ทำเป็นและเห็นช่องทางในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
               4.  จัดทำสื่อการเรียนการสอน  สื่อการเรียนการสอนจะต้องสอดคล้องกับกิจกรรม            การเรียนการสอน  ซึ่งอาจจะเป็นสื่อที่ใช้อยู่แล้วหรือสื่อที่คิดขึ้นใหม่ก็ได้ แต่ต้องให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเนื้อหาด้วย
               5.  จัดทำเครื่องมือวัดผลและประเมินผล  เครื่องมือวัดผลและประเมินผลให้สอดคล้อง        กับหลักสูตร  โดยเครื่องมือนั้นจะต้องวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัยและทักษะพิสัย  ตลอดทั้งครอบคลุมถึงกระบวนการวางแผนของนักเรียนทั้งจากสถานการณ์จริงและสถานการณ์จำลองด้วย
               6. กำหนดโครงสร้างสำหรับ 1 รายวิชา การกำหนดโครงสร้างสำหรับหนึ่งรายวิชา สามารถปฏิบัติได้ 2 ลักษณะ กล่าวคือ โครงสร้างอย่างสังเขปและโครงสร้างอย่างละเอียด เป็นการวางโครงสร้างโดยสัมพันธ์กับจุดประสงค์การเรียนรู้และเนื้อหาเวลา กระบวนการ สื่อการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผลให้เห็นภาพรวมตลอดใน1รายวิชา ส่วนโครงสร้างอย่างสังเขปเป็นการวางโครงสร้างโดยสัมพันธ์กับจุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหาและเวลา เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดใน 1 รายวิชา
               7.  เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ขยายจากโครงสร้าง เป็นการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้        ที่จะนำไปใช้ในแต่ละคาบ/ชั่วโมงอย่างละเอียดและปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้โดยมีส่วนประกอบในแผนการจัดการเรียนรู้ที่จะช่วยให้การดำเนินการสอนบรรลุเป้าหมาย ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ซึ่งมีมากมายหลากหลายข้อแตกต่างกันไป  แต่ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้จะต้องมีในแผนการจัดการเรียนรู้  คือ
7.1  สาระสำคัญ
7.2  จุดประสงค์การเรียนรู้
7.3  กิจกรรมการเรียนการสอน
7.4  สื่อการเรียนการสอน
7.5 การวัดผลและประเมินผล
               ส่วนประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้ที่นำเสนอโดยได้แนวคิดจากการดำเนิน              การสอนของกรมวิชาการก็จะเพิ่มกิจกรรมเสนอแนะเข้าเพิ่มอีกด้วย
               สรุปได้ว่า ขั้นตอนการจัดทำแผนการเรียนรู้จะเริ่มจากการศึกษาหลักสูตร  วิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหา เวลาและกิจกรรม  หาเทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา  จัดทำสื่อการเรียนการสอน  จัดทำวิธีการวัดและประเมินผล จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้


        2.5 รายละเอียดแผนการจัดการเรียนรู้
             แผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson  Plan) ประกอบด้วย 9 หัวข้อโดยการบูรณาการของหน่วยศึกษานิเทศก์  สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  7 หัวข้อเพิ่มเติมของคณะกรรมการข้าราชการครู  หัวข้อ ดังนี้  (สำลี  รักสุทธีและคณะ. 2546)
    1.  สาระสำคัญ  (Concept)  เป็นความคิดรวบยอดหรือหลักการของเรื่องหนึ่งที่ต้องการ
ให้เกิดกับนักเรียนตามแผนการจัดการเรียนรู้นี้แล้ว
               2.  จุดประสงค์การเรียนรู้  (Learning Objective)  เป็นการกำหนดจุดประสงค์ที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนเมื่อเรียนตามแผนการจัดการเรียนรู้นี้แล้ว
    3.  เนื้อหา  (Content)  เป็นเนื้อหาที่จัดกิจกรรมและต้องการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
    4.  กิจกรรมการเรียนการสอน  (Instructional  Activities)  เป็นการเสนอขั้นตอนหรือ
กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ซึ่งจะนำไปสู่จุดประสงค์ที่กำหนดไว้
    5.  สื่อและอุปกรณ์  (Instructional  Media)  เป็นสื่อและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัด
กิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้
    6.  การวัดผลประเมินผล  (Measurement  and Evaluation) เป็นการกำหนดขั้นตอน   
หรือวิธีการวัดผลประเมินผลว่า นักเรียนบรรลุจุดประสงค์ตามกำหนดในกิจกรรมการเรียนการสอน  แยกประเมินผลเป็นประเมินผลก่อนสอน  ขณะสอนและหลังการสอน
    7.  กิจกรรมเสนอแนะ  เป็นกิจกรรมการบันทึกการสอนก่อนนำไปใช้สอน
             8.  ข้อเสนอแนะของผู้บังคับบัญชา เป็นการบันทึกการตรวจแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อเสนอแนะหลังจากได้ตรวจสอบความถูกต้อง  การกำหนดรายละเอียดในหัวข้อต่าง ๆ  ในแผนการเรียนรู้มีความสมบูรณ์ เช่น  การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อและการวัดผลประเมินผลให้มีความสอดคล้อง ส่งเสริมการเรียนรู้กิจกรรมการเรียนการสอน
    9. บันทึกการสอน  เป็นการบันทึกของผู้สอน  บันทึกหลังจากนำแผนการใช้สื่อและการวัดผลประเมินผลไปใช้แล้วเพื่อนำแผนไปปรับปรุงและใช้สอนในคราวต่อไป
               สรุปได้ว่า  รูปแบบของแผนการจัดการเรียนรู้ประกอบด้วย สาระสำคัญ จุดประสงค์        การเรียนรู้  เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน  สื่อการเรียนร้ อุปกรณ์การเรียนรู้ การวัดผลประเมินผล และกิจกรรมเสนอแนะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น