Blogger--> Supaporn Ouinong

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบเปิด (open approach)




ความหมายของวิธีการแบบเปิด  (
Open Approach)           

           Tejima (1997) เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ปัญหาปลายเปิด (Open-ended problems) ซึ่งเป็นปัญหาชนิดที่มีคําตอบ หรือมีแนวทางในการแก้ปัญหาได้หลากหลาย  การพิจารณาคําตอบ ของปัญหาปลายเปิดไม่ใช่ตัดสินเฉพาะความถูกผิดของคําตอบ หรือ ตัดสินโดยคนส่วนมากว่าถูกหรือผิดแต่จะมีการพิจารณาถึง เหตุผลว่ามีความสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใดการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้น การใช้ปัญหาปลายเปิดจึงเป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่สามารถตอบสนองต่อความคิดที่หลากหลายของนักเรียนได้เนื่องจากกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นการใช้ปัญหาปลายเปิดสามารถจัดกิจกรรมที่เป็นการบูรณาการเนื้อหาหลายๆ เรื่อง เข้าไว้ในกิจกรรมเดียวกันได้ ซึ่งเป็นการจัดสรรเนื้อหาโดยการเน้นกิจกรรมให้สอดคล้องกับเวลาที่มีอยู่นอกจากนี้  สื่อการสอนที่ใช้จะเป็นลักษณะของการดึงเอากระบวนการคิดของนักเรียนออกมา ทําให้สามารถศึกษากระบวนการคิดของนักเรียนแต่ละคน และส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านการให้เหตุผลของนักเรียนได้เป็นอย่างดียิ่งอีกด้วย
          วิจารณ์ พานิช (2557) กล่าวว่า Open Approach เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนมีวิถีและวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองอย่างทั่วถึงเต็มศักยภาพของแต่ละคน ผู้เรียนได้ยกระดับความรู้ และ ระดับการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในระดับสูงเกิดสมรรถนะฝังลึกที่จะเรียนรู้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์ในเรื่องและ ในเงื่อนไขที่ตนยังไม่เคยรู้จักได้ด้วยตนเองและโดยกระบวนการกลุ่มจนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง (Transformative Learning) ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิด อุปนิสัยและความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นภารกิจหลักประการหนึ่ง ของโรงเรียนเพลินพัฒนาที่จะทำให้นักเรียนเป็นผู้มีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สรุปได้ว่า วิธีการแบบเปิด  (Open Approach) เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนได้มีประสบการณ์หลากหลายกับปัญหาปลายเปิดที่มีลักษณะหลายๆคำตอบอันเกิดจากกระบวนการแก้ปัญหาหลากหลายวิธีที่นักเรียนคิดออกมาไม่ใช่ครูเป็นผู้บอกคำตอบเหมือนการเรียนการสอนในปัจจุบันที่มุ่งแต่ผลลัพธ์ในการสอบแข่งขันขาดการจัดกระบวนการทางความคิดที่จะให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล

ขั้นตอนการสอนแบบวิธีการเรียนแบบเปิด (Open Approach)

          ยุพาพักตร์  สะเดา (2555)  กล่าวว่าโดยการสอนแบบวิธีการเรียนแบบเปิด (Open Approach) นั้น มีขั้นตอนดังนี้
          1. ขั้นนำเสนอปัญหาต่อชั้นเรียน  โดยเน้นวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งมีลักษณะของการเปิด  3  ลักษณะคือ  กระบวนการเปิด  (แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนั้นมีหลายแนวทาง) ผลลัพธ์เปิด  (คำตอบถูกต้องหลายคำตอบ) แนวทางการพัฒนาเปิด  (สามารถพัฒนาไปเป็นปัญหาใหม่ได้) เมื่อได้สถานการณ์ปัญหาแล้วครูใช้ใบกิจกรรมให้นักเรียนทำในห้องเรียนโดยทำเป็นกลุ่ม ๆ 35 คน
          2.  ขั้นลงมือทำกิจกรรมและเรียนรู้ด้วยตนเอง  (การนำเสนอแผนการสอนไปใช้) (Reaearch) เมื่อได้ใบกิจกรรมนักเรียนในกลุ่มก็จะช่วยกันคิดหาวิธีของแต่ละคนเสร็จแล้วก็จะคุยกันในกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปและเหตุผลที่ได้คำตอบมาอย่างนี้เพราะอะไรมีวิธีการอย่างไร  เสร็จแล้วก็จะนำเสนอหน้าชั้นให้เพื่อนรับทราบถึงแนวความคิดของกลุ่ม
          3. ขั้นอภิปรายและเปรียบเทียบร่วมกันทั้งชั้นเรียน  (สะท้อนผลการอภิปรายเกี่ยวกับการสอน Lesson  Discussion) เมื่อนักเรียนได้คำตอบพร้อมกับเหตุผลแนวคิดและวิธีหาคำตอบก็จะนำเสนอหน้าชั้นเรียนเพื่อให้เพื่อนได้รับทราบถึงวิธีการคิดของนักเรียน  หลังจากนั้นครูร่วมอภิปรายเพื่อพัฒนาไปเป็นปัญหาใหม่  เพื่อนำมาพัฒนาต่อไป
          4.ขั้นสรุปบทเรียนจากการเชื่อมโยงแนวคิดของนักเรียนที่เกิดขั้นในชั้นเรียน  (การสรุปผลการเรียนรู้) (Consolidation  of  Learning)  ขั้นสุดท้ายของกิจกรรมที่ครูและนักเรียนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปของบทเรียนที่มีความเหมือนและแตกต่างในการหาคำตอบของแต่ละกลุ่มเพื่อที่จะสรุปเป็นแนวคิดร่วมกัน

บทบาทสำคัญของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach

          วิจารณ์ พานิช (2557)  กล่าวว่าบทบาทสำคัญของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach มีดังนี้
          ๑) เปิดประตูผู้เรียนสู่การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวผู้เรียนเอง
          ๒) ส่งเสริมดูแลเอาใจใส่ให้ผู้เรียนได้แก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องโดยการหล่อเลี้ยงแรงขับจับประเด็นตั้งคำถามเพิ่มลดหรือปรับประสบการณ์ สนับสนุนอำนวยความสะดวกดูแลความเรียบร้อย แนะนำ ช่วยเพิ่มลดหรือปรับทรัพยากรฯลฯเพื่อให้ผู้เรียนได้นำความร้คูวามสามารถ ที่สะสมอยู่ออกมาใช้ให้มากที่สุดจนเกิดการสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้น(constructionism) จากการลองผิดลองถูกเปลี่ยนมุมมองและหาทางให้ถึงที่สุดด้วยตนเอง(heuristics) และพร้อมๆกันนั้นครูยังช่วยจัดวางวิธีบันทึกความคิดความรู้สึก ความเข้าใจ บันทึกวิธีการ บันทึกผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับวิธีการช่วยตั้งคำถามช่วยตั้งประเด็นให้ผู้เรียน สังเกตเห็นและประเมินวิธีสร้าง ความเข้าใจและวิธีทำของตนเองในการแก้ปัญหาหรือการ สร้างสรรค์นั้นๆ(metacognition)
          ๓) ประเมินผู้เรียนในขณะเรียนรู้ โดยการมีสติตั้งใจฟังสังเกตและรู้สึก อย่างละเอียดอ่อนฉับไวและแม่นยำ เพื่อหยั่งให้ถึงภาวะการนำความรู้ความสามารถออกมาใช้ ภาวะการสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่แรงบันดาลใจวิถีการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ อาการเข้าใจ ขอบเขตและคุณภาพของความเข้าใจพลังความสามารถและ ข้อจำกัดของผู้เรียนแต่ละคนในขณะที่กำลังเรียนรู้ผ่านการแก้โจทย์ หรือการสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์ เป็นการประเมินเพื่อ พัฒนาอย่างฉับพลันทันทีไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสิน
          ๔) ตอบสนองต่อผลการประเมินนั้นอย่างเหมาะสมและทันเวลา โดยการตั้งคำถามจับประเด็นให้คำแนะนำ ให้ตัวอย่างอำนวยความช่วยเหลือฯลฯที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนอย่างสงบ มีสติในจังหวะที่เหมาะสมทันท่วงทีเพื่อช่วยให้ผู้เรียนหลุดจากภาวะติดขัดหรือการเข้าใจผิดหรือช่วยให้ผู้เรียนเข้าสู่การเรียนรู้ที่กว้างขวาง ลึกซึ้งมากขึ้นและดำเนินการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ต่อไปได้อย่างราบรื่น
          ๕) ขับเคลื่อนและปรับพฤติกรรมผู้เรียนด้วยวิธีการเชิงบวก เมื่อมีผู้เรียนบางคนที่ไม่อยู่ในภาวะพร้อมเรียนหรือติดขัดอย่างมากหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือรบกวนการเรียนรู้ของเพื่อน ครูจะขับเคลื่อนและปรับพฤติกรรมผู้เรียนนั้นด้วยวิธีการเชิงบวก ทั้งนี้ เพื่อรักษาแรงจูงใจด้านบวกของผู้เรียนคนนั้นและรักษา บรรยากาศเชิงบวกของชั้นเรียนเอาไว้ให้ต่อเนื่อง



วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

เว็บเควสท์ (WebQuest)


บทเรียนบนเครือข่ายแบบเว็บเควสท์ (WebQuest)


บทเรียนบนเครือข่ายแบบเว็บเควสท์ (WebQuest)

เว็บเควสท์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บทเรียนแสวงรู้บนเว็บ  ซึ่งคิดค้นโดย Barnie Dodge  และTom March แห่งมหาวิทยาลัย  San Diego State University ในปี ค.ศ. 1995
ความหมายของ Web Quest
Wikipedia (2551)  ได้ความหมายว่า  เว็ปเควสท์เป็นกิจกรรมการเรียนที่นักการศึกษานำมาใช้  ได้แก่ กิจกรรมของผู้เรียนในการอ่าน, การวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ เวิล์ด ไวด์ เว็บ
Dodge (2540) ได้ให้นิยามของเว็บเควสท์ไว้ว่า เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการสืบสอบด้วยตนเองเป็นหลัก  (Inquiry – Oriented Activities)   โดยผู้เรียนสืบค้นจากแหล่งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ที่ผู้สอนได้คัดเลือกแล้วว่ามีความเหมาะสม
Christies (2551)  เว็บเควสท์ คือ  หลักสูตรหรือบทเรียนที่พัฒนาด้านกิจกรรมในการก้าวหน้า ของผู้เรียนมาแล้วอย่างดี เมื่อผู้สอนสร้างเว็บเควสท์ จะสร้างโครงสร้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไปยังหัวข้อเฉพาะด้านที่ทำให้ผู้เรียนสนใจและงานที่หลากหลายจัดเตรียมอินเทอร์เน็ตและการพิมพ์จากแหล่งข้อมูลที่เตรียมไว้   เตรียมคำแนะนำเพื่อให้งานที่สมบูรณ์   จัดเตรียมการประเมินเชิงมิติ และการจัดการให้ผู้เรียนมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่น
      สรุปว่า เว็บเควสท์ เป็นเว็บที่มีการออกแบบให้มีกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีลักษณะการเรียนแบบสืบสอบ (Inquiry-Oriented)  กล่าวคือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ความรู้จากการค้นคว้าด้วยตัวเองจากแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ตที่จัดเตรียมไว้ในเว็บเควสท์ตามขั้นตอนที่กำหนด และมีลักษณะสำคัญ คือ เว็บเควสท์แสดงเพียงโครงร่างเนื้อหา เป็นกรอบของความรู้ที่ผู้เรียนจะต้องศึกษา ไม่ได้นำเอาของเนื้อหาในการเรียนใส่ลงไปในบทเรียน
      ละออง  (2543) เว็บเควสท์กับแนวทางเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542 แนวทางการจัดระบบการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542   หมวดที่ 4 ได้จำแนกถึง คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนไว้ว่า
1. สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้   มีการเรียนรู้ทุกเวลาทุกสถานที่
2. เรียนรู้จากประสบการณ์จริง
3. ฝึกการปฏิบัติเพื่อให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน   เกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
4. ฝึกทักษะกระบวนการคิด  การจัดการ   การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้ มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
5. ได้เรียนรู้เนื้อหาสาระและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจ   ความถนัดและความแตกต่างของผู้เรียน
6. ผู้เรียนมีทั้งความรู้ คุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะที่พึงประสงค์
ลักษณะของเว็บเควสท์
          ณมน (2550) ลักษณะของเว็บเควสท์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนของครูผู้สอน เป็นส่วนที่ผู้พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เขียนอธิบายหรือชี้แจงให้กับครูผู้อื่นที่สนใจเข้ามาใช้ และส่วนของนักเรียน  เป็นส่วนนี้ผู้พัฒนาต้องสรุปให้นักเรียน ทราบว่า เมื่อจบกิจกรรมนั้น ๆ แล้วนักเรียนจะได้เรียนรู้อะไร  รวมทั้งอาจทิ้งคำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนขยายผลในสิ่งที่เรียนรู้
          ธิดาภา พวงสุวรรณ์ (2559) ลักษณะของเว็บเควสท์ที่สำคัญ  คือ  แสดงเพียงโครงร่างเนื้อหาเป็นกรอบของความรู้ที่ผู้เรียนต้องหรือควรที่จะศึกษา ไม่ได้มุ่งแสดงเนื้อหาราย ละเอียดของความรู้นั้นๆ ที่ชี้ชัดเจนลงไปโดยตรง
องค์ประกอบของเว็บเควสท์
วสันต์ (2546) กล่าวว่า เว็บเควสท์ มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 6 ส่วนคือ
1.  ขั้นนำ (Introduction) เป็นขั้นเตรียมตัวผู้เรียนที่จะสู่กิจกรรมการเรียนการสอน  โดยทั่วไป มักเป็นการให้สถานการณ์ ที่จะให้ผู้เรียนร่วมแก้ปัญหา หรือปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบไว้
2.  ขั้นภารกิจ (Task) เป็นปัญหาหรือประเด็นที่สำคัญที่ผู้เรียนจะต้องดำเนินการเพื่อหาคำตอบ
3.  ขั้นกระบวนการ (Process) เป็นการชี้แจงว่าผู้เรียนจะต้องประกอบกิจกรรมใดบ้าง  เพื่อให้บรรลุภารกิจที่วางไว้   โดยมีความยืดหยุ่นให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ด้วย    จะต้องมีกิจกรรมที่นำไปสู่ขั้นวิเคราะห์  สังเคราะห์  และประเมินค่า   กิจกรรมนั้นควรจะเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism)  และกระบวนการเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
4.  ขั้นชี้แหล่งความรู้ (Resources)  เป็นการให้แหล่งสารสนเทศที่มีบน เวิลด์ ไวน์ เว็บ  เพื่อว่าผู้เรียนสามารถนำสาระความรู้เหล่านั้นมาแก้ปัญหาที่ได้รับมอบหมาย  โดยเน้นแหล่งความรู้หลายแหล่งและมีความหลากหลาย
5.  ขั้นประเมินผล (Evaluation)  เป็นขั้นติดตามว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพียงใดจะเน้นการวัดผลในสภาพที่เป็นจริง (Authentic Assessment) ซึ่งอาจออกมาในรูปประเมินเชิงมิติ  (Rubrics) การจัดทำแฟ้มข้อมูล (Portfolio)
6.  ขั้นสรุป (Conclusion) เพื่อให้ผู้เรียนได้ความคิดรวบยอดที่เขาแสวงหาและสร้างขึ้นมาเอง
หลักการออกแบบเว็บเควสท์
ปราวีณยา (2551) กล่าวว่า การใช้เว็บเควสท์เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น  ผู้สอนจะต้องออกแบบกำหนดงานที่สร้างสรรค์พัฒนาการคิดและรวบรวมแหล่งสาระสนเทศที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และงานที่กำหนด  กำหนดรูปแบบการรายงาน และการประเมินผู้เรียน
          วสันต์ (2546) กล่าวว่ามีหลักการสำคัญในการออกแบบเว็บเควสท์  เพื่อส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียนระดับต่าง ๆ ได้ดังนี้
1.  จัดหาหัวเรื่องที่เหมาะสมกับการสร้างเว็บเควสท์ การพัฒนาเว็บเควสท์  เป็นงานสร้างสรรค์ที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมใหม่ด้วยการประกอบกิจกรรมเองเป็นหลัก    นักพัฒนาบทเรียนจึงต้องเลือกหัวเรื่องที่เหมาะสม จูงใจ
2.  จัดหาแหล่งสนับสนุนแหล่งการเรียนรู้ websites  ต่าง ๆ  เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญที่จะ ต้องได้รับการจัดหา คัดสรร และจัดหมวดหมู่เป็นอย่างดี ผ่านการกลั่นกรอง ว่ามีเนื้อหาที่สอดคล้องต่อหลักสูตรและวัตถุประสงค์ของบทเรียน
3.   ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน การสร้างสรรค์กิจกรรมในเว็บเควสท์ นั้นมีส่วนที่ควรคำนึงต่อไปนี้
          3.1    เน้นการใช้กิจกรรมกลุ่ม ที่ให้ผู้เเรียนร่วมกันประกอบกิจกรรม ร่วมกันคิด  ร่วมประสบการณ์และร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานออกมา ทั้งในชั้นเรียน ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ที่บ้าน
          3.2   การจูงใจผู้เรียน ด้วยการให้ผู้เรียนเข้าไปมีบทบาทในบทเรียนในรูปบทบาทสมมติให้มากที่สุดไม่ว่าในฐานะนักวิทยาศาสตร์ นักสืบ ผู้สื่อข่าว หมอ ฯลฯ สร้างสถานการณ์ให้น่าสนใจ  เร้าใจให้พวกเขาติดตามร่วมกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉง
          3.3   การพัฒนาในรูปแบบรายวิชาเดี่ยวหรือแบบสหวิทยาการ ในรูปแบบแรกอาจจะดูง่ายในการพัฒนา แต่อาจจะจำกัดในการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ชีวิตในบริบทจริง  ในขณะที่รูปแบบหลังส่งเสริมประเด็นนี้ได้ดีกว่าและสร้างประสบการณ์ในเชิงลึกแก่ผู้เรียน
          3.4   พัฒนาโปรแกรม สามารถทำได้ทั้งการเขียนโปรแกรมเพื่อสร้าง Web Page ด้วยตนเอง ด้วยการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปประเภท  FrontPage, Dream Weaver, Composer, etc.  หรือการจัดหาต้นแบบ (Template) ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ง่ายเพราะเพียง แต่ออกแบบกิจกรรมและ การเอา เนื้อหาใส่เข้าไป   ซึ่งจะลดปัญหาด้านความจำกัดเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงไป  ผู้ที่ต้องการต้นแบบนี้สามารถหาได้จาก Web Sites ต่าง ๆ ได้ไม่ยากนัก
          3.5   ทดลองใช้และปรับปรุง ด้วยการหากลุ่มเป้าหมายมาทดลองใช้บทเรียน ดูจุดดีจุดด้อยของบทเรียนและปรับปรุง
March (2550) ได้สรุปหลักในการออกแบบเว็บเควสท์ไว้ดังนี้
1.   เป็นวิธีการสอนที่เชื่อถือได้
2.   เป็นการรวมเอางานวิจัยและทฤษฎีมาใช้สนับสนุน
3.   เป็นผลของการใช้แหล่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
4.   สร้างคำถามปลายเปิด
5.   เสนองานตามสภาพจริง
6.   จูงใจผู้เรียน
7.   ผู้เรียนเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเนื้อหาที่เรียนจากสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
เว็บเควสท์พัฒนาทักษะการคิด
      เว็บเควสท์จะถูกออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดขั้นสูงและพัฒนาการเรียนตามสภาพจริง มีพื้นฐานกระบวนการสร้างความคิดจาก Marzano
March (1998) กล่าวว่า หลักสำคัญของเว็บเควสท์คือการที่ผู้เรียนแก้ไขปัญหาทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาความคิดในระดับสูงขึ้น
      ตาราง แสดงเป้าหมายของกระบวนการสร้างความคิดจากเว็บเควสท์
กระบวนการคิด
ความหมาย
การเปรียบเทียบ (Comparing)
ผู้เรียนสามารถระบุได้ว่ามีความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสิ่งต่างๆ อย่างไร
การจำแนก (Classifying)
ผู้เรียนสามารถจัดกลุ่มโดยระบุคุณสมบัติของแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน
การอุปมาน (Inducing)
ผู้เรียนสามารถให้เหตุผลจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่
การอนุมาน (Deducing)
ผู้เรียนสามารถหาเหตุผลจากส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อย
การวิเคราะห์ข้อผิดพลาด (Analyzing errors)
ผู้เรียนสามารถชี้ข้อผิดพลาดของตัวเองและของผู้อื่นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
การหาเหตุผล (Constructing support)
ผู้เรียนสร้างหรือหาระบบสนับสนุนเพื่อยืนยันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
สาระสังเขป (Abstraction)
ผู้เรียนสร้างหรือสรุปงานได้อย่างชัดเจนและครอบคลุมเนื้อหา
วิเคราะห์เชิงลึก (Analyzing perspectives)
ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ในเชิงลึก รู้ชัดเจนในเรื่องที่เรียนรู้

      เมื่อพิจารณาถึงแนวคิดหลักในการสร้างเว็บเควสท์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดและรูปแบบของการสร้างงานในการจัดทำเว็บเควสท์ สามารถนำเอากระบวนการสร้างความคิดทั้ง 8  รูปแบบมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมของเว็บเควสท์ และสามารถพัฒนาความคิดระดับสูงของผู้เรียนได้
ประโยชน์ของการเรียนการสอนแบบเว็บเควสท์
                   1  ช่วยเหลือ สนับสนุนเพื่อนสมาชิกอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล             
                   2  แบ่งปันแหล่งข้อมูล และวัสดุ รวมไปถึงกระบวนการในการจัดการข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล           
                   3  มีการสนองตอบตามคำเรียกร้อง หรือช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเป็นลำดับ       
                   4  ท้าทายข้อสรุปของกันและกัน ร่วมกันขบคิด หาแนวทางที่ดีที่สุดร่วมกัน             
                   5  ผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน               
                   6  จะบรรลุเป้าหมายได้มาจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกๆ คน           
                   7  เชื่อมั่นในพลังของกลุ่ม ไว้ใจเพื่อนสมาชิก           
                   8  เข้าใจปัญหาตรงกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน           
                   9  ตัดความลังเลสงสัย และความคิดที่ว่า ทำเพราะต้องทำออกจากใจ
สรุปว่า เว็บเควสท์ เป็นเว็บที่มีการออกแบบให้มีกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีลักษณะการเรียนแบบสืบสอบ (Inquiry-Oriented)  กล่าวคือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ความรู้จากการค้นคว้าด้วยตัวเองจากแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ตที่จัดเตรียมไว้ในเว็บเควสท์ตามขั้นตอนที่กำหนด และมีลักษณะสำคัญ คือ เว็บเควสท์แสดงเพียงโครงร่างเนื้อหา เป็นกรอบของความรู้ที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาไม่ได้นำเอาของเนื้อหาในการเรียนใส่ลงไปในบทเรียน


แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ


5.1 ความหมายของความพึงพอใจ
ชริณี เดชจินดา (2535) ให้ความหมายของความพึงพอใจไว้ว่า ความพึงพอใจเป็นความรู้สึกนึกคิดหรือทัศนคติของบุคคลที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องความรู้สึกพอใจจะเกิดขึ้นเมื่อความต้องการของบุคคลได้รับการตอบสนองหรือบรรลุจุดมุ่งหมายในระดับหนึ่ง ความรู้สึกดังกล่าวจะลดลงและไม่เกิดขึ้นหากความต้องการหรือจุดมุ่งหมายนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง
สง่า ภู่ณรงค์ (2540) ได้กล่าวว่าความพึงพอใจหมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่อได้รับความสำเร็จตามความมุ่งหมาย หรือเป็นความรู้สึกขั้นสุดท้ายที่ได้รับผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
ปริญญา จเรรัชต์และคณะ (2546) กล่าวไว้ว่าความพึงพอใจ หมายถึงท่าทีความรู้สึกหรือทัศนคติในทางที่ดีของบุคคลที่มีต่อสิ่งที่ปฏิบัติร่วมปฏิบัติ หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติโดยผลตอบแทนที่ได้รับรวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยทาให้เกิดความพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจ
จากความหมายของความพึงพอใจดังกล่าวพอสรุปความได้ว่าความพึงพอใจเป็นทัศนคติอย่างหนึ่ง ที่เป็นนามธรรมเป็นความรู้สึกส่วนตัวทั้งทางด้านบวกและลบขึ้นอยู่กับการได้รับการตอบสนองเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรม ในการแสดงออกของบุคคลที่มีผลต่อการเลือกที่จะปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

5.2 แนวความคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ
วิชัย เหลืองธรรมชาติ (2531) ได้ให้แนวความคิดเกี่ยวกับความพึงพอใจว่า ความพึงพอใจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความต้องการของมนุษย์ คือพึงพอใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความต้องการของมนุษย์ได้รับการตอบสนองซึ่งมนุษย์ไม่ว่าอยู่ในที่ใดย่อมมีความต้องการขั้นพื้นฐานไม่ต่างกัน
สุเทพ พานิชพันธุ์ (2541) ได้สรุปถึงสิ่งจูงใจที่ใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้บุคคลเกิดความ ความพึงพอใจไว้ดังนี้
1. สิ่งจูงใจที่เป็นวัตถุได้แก่เงินสิ่งของเป็นต้น
2. สภาพทางกายที่ปรารถนา คือสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจกรรมต่างๆซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งอันก่อให้เกิดความสุขทางกาย
3. ผลประโยชน์ทางอุดมคติ หมายถึงสิ่งต่างๆที่สนองความต้องการของบุคคล
4. ผลประโยชน์ทางสังคม คือความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับผู้ร่วมกิจกรรมอันจะทำให้เกิดความผูกพันความพึงพอใจ และสภาพการอยู่ร่วมกันอันเป็นความพึงพอใจของบุคคลในด้านสังคมหรือความมั่นคงในสังคมซึ่งจะทาให้รู้สึกมีหลักประกันและมีความมั่นคงในการประกอบกิจกรรม
ความพึงพอใจเป็นความรู้สึกที่ดีที่ชอบที่พอใจหรือที่ประทับใจของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้รับโดยสิ่งนั้นสามารถตอบสนองความต้องการทั้งด้านร่างกาย และจิตใจบุคคลทุกคนมีความต้องการหลายสิ่งหลายอย่างและมีความต้องการหลายระดับซึ่งหากได้รับการตอบสนองก็จะก่อให้เกิดความพึงพอใจ การจัดการเรียนรู้ใดๆที่จะทาให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจการเรียนรู้นั้นจะต้องสนองความต้องการของผู้เรียนทฤษฏีเกี่ยวกับความต้องการที่ส่งผลต่อความพึงพอใจที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ทฤษฏีลำดับชั้นของความต้องการ Maslow (Needs-Herarchy Theory) เป็นทฤษฏีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางโดยตั้งอยู่บนสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ดังนี้

1. ลักษณะความต้องการของมนุษย์ได้แก่
   1.1 ความต้องการของมนุษย์เป็นไปตามลำดับชั้นความสำคัญโดยเริ่มระดับความต้องการขั้นสูงสุด
   1.2 มนุษย์มีความต้องการอยู่เสมอเมื่อความต้องการอย่างหนึ่งได้รับการตอบสนองแล้วก็มีความต้องการสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่
   1.3 เมื่อความต้องการในระดับหนึ่งได้รับการตอบสนองแล้วจะไม่จูงให้เกิดพฤติกรรมต่อสิ่งนั้นแต่จะมีความต้องการในระดับสูงเข้ามาแทนและเป็นแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมนั้น
   1.4 ความต้องการที่เกิดขึ้นอาศัยซึ่งกันและกันมีลักษณะควบคู่คือเมื่อความต้องการอย่างหนึ่งยังไม่หมดสิ้นไปก็จะมีความต้องการอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา
2. ลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์มี 5 ระดับได้แก่
   2.1 ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย (Physiological Needs) เป็นความต้องการเบื้องต้นเพื่อความอยู่รอดของชีวิตเช่นความต้องการอาหาร น้า อากาศ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และความต้องการทางเพศความต้องการทางด้านร่างกายจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนก็ต่อเมื่อความต้องการทั้งหมดของคนยังไม่ได้รับการตอบสนอง
   2.2 ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Security Needs) เป็นความรู้สึกที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยในปัจจุบัน และอนาคตซึ่งรวมถึงความก้าวหน้า และความอบอุ่นใจ
   2.3 ความต้องการทางสังคม (Social or Belonging Needs) ได้แก่ความต้องการที่จะเข้าร่วมและได้รับการยอมรับในสังคมความเป็นมิตร และความรักจากเพื่อน
   2.4 ความต้องการที่จะได้รับการยกย่องหรือมีชื่อเสียง (Esteem Needs) เป็นความต้องการระดับสูง ได้แก่ความต้องการอยากเด่นในสังคม รวมถึงความสำเร็จ ความรู้ ความสามารถ ความเป็นอิสรภาพ และเสรี และการเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั้งหลาย
   2.5 ความต้องการที่จะได้รับความสำเร็จในชีวิต (Self Actualization Needs) เป็นความต้องการระดับสูงของมนุษย์ส่วนมากจะเป็นการนึกอยากจะเป็นอยากจะได้ตามความคิดเห็นของตัวเอง แต่ไม่สามารถแสวงหาได้ Maslow (1970)
5.3 การวัดความพึงพอใจ
ปริญญา จเรรัชต์และคณะ (2546) กล่าวว่ามาตรวัดความพึงพอใจสามารถกระทาได้หลายวิธีได้แก่
1. การใช้แบบสอบถามโดยผู้สอบถามจะออกแบบสอบถามเพื่อต้องการทราบความคิดเห็นซึ่งสามารถทาได้ในลักษณะที่กำหนดคำตอบให้เลือก หรือตอบคำถามอิสระคำถามดังกล่าวอาจถามความพึงพอใจในด้านต่างๆ เช่นการบริการการบริหารและเงื่อนไขต่างๆเป็นต้น
2. การสัมภาษณ์เป็นวิธีวัดความพึงพอใจทางตรงทางหนึ่งซึ่งต้องอาศัยเทคนิค และวิธีการที่ดีที่จะทาให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงได้
3. การสังเกตเป็นวิธีการวัดความพึงพอใจโดยสังเกตพฤติกรรมของบุคคลเป้าหมาย ไม่ว่าจะแสดงออกจากการพูดกิริยาท่าทาง วิธีนี้จะต้องอาศัยการกระทำอย่างจริงจัง และการสังเกตอย่างมีระเบียบแบบแผน


ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน


4.1 ความหมายของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นความสามารถของนักเรียนในด้านต่างๆ ซึ่งเกิดจากนักเรียนได้รับประสบการณ์จากกระบวนการเรียนการสอนของครู โดยครูต้องศึกษาแนวทางในการวัดและประเมินผล การสร้างเครื่องมือวัดให้มีคุณภาพนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไว้ดังนี้
          สมพร เชื้อพันธ์ (2547) สรุปว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หมายถึงความสามารถ ความสำเร็จและสมรรถภาพด้านต่างๆของผู้เรียนที่ได้จากการเรียนรู้อันเป็นผลมาจากการเรียนการสอน การฝึกฝนหรือประสบการณ์ของแต่ละบุคคลซึ่งสามารถวัดได้จากการทดสอบด้วยวิธีการต่างๆ
          พิมพันธ์  เดชะคุปต์ และพเยาว์  ยินดีสุข (2548) กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหมายถึงขนาดของความสำเร็จที่ได้จากกระบวนการเรียนการสอน
           ปราณี กองจินดา (2549) กล่าว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ความสามารถหรือผลสำเร็จที่ได้รับจากกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและประสบการณ์เรียนรู้ทางด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย และยังได้จำแนกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไว้ตามลักษณะของวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2546) ให้ความหมายว่า การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นการวัดความสำเร็จทางการเรียน หรือวัดประสบการณ์ทางการเรียนที่ผู้เรียนได้รับจากการเรียนการสอน โดยวัดตามจุดมุ่งหมายของการสอนหรือวัดผลสำเร็จจากการศึกษาอบรมในโปรแกรมต่าง ๆ
 ไพโรจน์ คะเชนทร์ (2556) ให้คำจำกัดความผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนว่า คือคุณลักษณะ รวมถึงความรู้ ความสามารถของบุคคลอันเป็นผลมาจากการเรียนการสอน หรือ มวลประสบการณ์ทั้งปวงที่บุคคลได้รับจากการเรียนการสอน ทำให้บุคคลเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านต่างๆ ของสมรรถภาพทางสมอง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการตรวจสอบระดับความสามารถสมองของบุคคลว่าเรียนแล้วรู้อะไรบ้าง และมีความสามารถด้านใดมากน้อยเท่าไร  ตลอดจนผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนการฝึกฝนหรือประสบการณ์ต่างๆ ทั้งในโรงเรียน ที่บ้าน และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งความรู้สึก ค่านิยม จริยธรรมต่างๆ ก็เป็นผลมาจากการฝึกฝนด้วย
          ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ผลที่เกิดจากกระบวนการเรียนการสอนที่จะทำให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสามารถวัดได้โดยการแสดงออกมาทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย และด้านทักษะพิสัย

4.2 การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีความจำเป็นต่อการเรียนการสอน หรือการตัดสินผลการเรียน เพราะเป็นการวัดระดับความสามารถในการเรียนรู้ของบุคคลหลังจากที่ได้รับการฝึกฝน โดยอาศัยเครื่องมือประเภทแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นิยมมากที่สุด
การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามแนวคิดของ Bloom (1982) ถือว่าสิ่งใดก็ตาม ที่มีปริมาณอยู่จริงสิ่งนั้นสามารถวัดได้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าว ซึ่งผลการวัดจะเป็นประโยชน์ในลักษณะทราบและประเมินระดับความรู้ ทักษะและเจตคติของนักเรียน และระดับความรู้ความสามารถตามแนวคิดของ Bloom มี 6 ระดับ ดังนี้
1) ความจำ คือ สามารถจำเรื่องต่าง ๆ ได้ เช่น คำจำกัดความสูตรต่าง ๆ วิธีการ เช่น นักเรียนสามารถบอกชื่อสารอาหาร 5 ชนิดได้ นักเรียนสามารถบอกชื่อธาตุที่เป็นองค์ประกอบของโปรตีนได้ครบถ้วน
2) ความเข้าใจ คือ สามารถแปลความ ขยายความ และสรุปใจความสำคัญได้
3) การนำไปใช้ คือ สามารถนำความรู้ ซึ่งเป็นหลักการ ทฤษฎี ฯลฯ ไปใช้ในสภาพการณ์ที่ต่างออกไปได้
4) การวิเคราะห์ คือ สามารถแยกแยะข้อมูลและปัญหาต่าง ๆ ออกเป็นส่วนย่อยเช่น วิเคราะห์องค์ประกอบ ความสัมพันธ์ หลักการดำเนินการ
5) การสังเคราะห์ คือ สามารถนำองค์ประกอบ หรือส่วนต่าง ๆ เข้ามารวมกันเป็นหมวดหมู่อย่างมีความหมาย
6) การประเมินค่า คือ สามารถพิจารณาและตัดสินจากข้อมูล คุณค่าของ หลักการโดยใช้มาตรการที่ผู้อื่นกำหนดไว้หรือตัวเองกำหนดขึ้น
เยาวดี วิบูลย์ศรี (2540) ได้กล่าวถึงข้อตกลงเบื้องต้นที่ควรคำนึงถึงในการสร้างแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ไว้ดังนี้
1) เนื้อหา หรือทักษะภายในขอบเขตที่ครอบคลุมในแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์นั้น จะต้องสามารถจำกัดอยู่ในรูปของพฤติกรรม ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงในลักษณะที่จะสื่อสารไปยังบุคคลอื่นได้ ถ้าเป้าหมายทางการศึกษาไม่สามารถจำกัดอยู่ในรูปของพฤติกรรมแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะวัดได้ในลักษณะของผลสัมฤทธิ์ได้อย่างชัดเจน
2) ผลิตผลที่แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์วัดนั้น จะต้องเป็นผลิตผลเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเท่านั้น จะวัดผลผลิตผลอย่างอื่นไม่ได้
3) ผลสัมฤทธิ์หรือความรู้ต่าง ๆ ที่แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์วัดได้นั้น ถ้าจะนำไปเปรียบเทียบกันแล้ว ผู้เข้าสอบทุกคนจะต้องมีโอกาสได้เรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ เท่าเทียมกัน

4.3 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
             สมบูรณ์ ตันยะ (2545) ได้ให้ความหมายว่า แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการ เรียนเป็นแบบทดสอบที่ใช้สำหรับวัดพฤติกรรมทางสมองของผู้เรียนว่ามีความรู้ ความสามารถใน เรื่องที่เรียนรู้มาแล้ว หรือได้รับการฝึกฝนอบรมมาแล้วมากน้อยเพียงใด  ส่วน พิชิต ฤทธิ์จรูญ (2544) กล่าวว่า แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็น แบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ ทักษะ และความสามารถทางวิชาการที่ผู้เรียนได้เรียนรู้มาแล้ว ว่า บรรลุผลสำเร็จตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้เพียงใด 
พิชิต ฤทธิ์จรูญ (2545) กล่าวว่า แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึงแบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ ทักษะ และความสามารถทางวิชาการที่นักเรียนได้เรียนรู้มาแล้วว่าบรรลุผลสำเร็จตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้เพียงใด
          สิริพร ทิพย์คง (2545) กล่าวว่า แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึงชุดคำถามที่มุ่งวัดพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนว่ามีความรู้ ทักษะ และสมรรถภาพด้านสมองด้านต่างๆ ในเรื่องที่เรียนรู้ไปแล้วมากน้อยเพียงใด
                   สมพร เชื้อพันธ์ (2547) กล่าวว่า แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึงแบบทดสอบหรือชุดของข้อสอบที่ใช้วัดความสำเร็จหรือความสามารถในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนที่เป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูผู้สอนว่าผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้เพียงใด
ดังนั้นสรุปได้ว่า แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือแบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ และทักษะความสามารถจากการเรียนรู้ในอดีตหรือในสภาพปัจจุบันของแต่ละบุคคล 

4.4 ประเภทของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ไพโรจน์ คะเชนทร์ (2556) ได้จัดประเภทของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือแบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้นเอง (Teacher made tests) และแบบทดสอบมาตรฐาน (Standardized tests) ซึ่งทั้ง 2 ประเภทจะถามเนื้อหาเหมือนกัน คือถามสิ่งที่ผู้เรียนได้รับจากการเรียนการสอนซึ่งจัดกลุ่มพฤติกรรมได้ 6 ประเภท คือ ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมิน
4.4.1 แบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้นเป็นแบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้นเองเพื่อใช้ในการทดสอบผู้เรียนในชั้นเรียน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
        4.4.1.1 แบบทดสอบปรนัย (Objective tests) ได้แก่
แบบถูก – ผิด (True-false) แบบจับคู่ (Matching) แบบเติมคำให้สมบูรณ์ (Completion) หรือแบบคำตอบสั้น (Short answer) และแบบเลือกตอบ (Multiple choice)  
      4.4.1.2 แบบอัตนัย (Essay tests) ได้แก่ แบบจำกัดคำตอบ (Restricted response items) และแบบไม่จำกัดความตอบ หรือ ตอบอย่างเสรี (Extended response items)
4.4.2 แบบทดสอบมาตรฐาน (Standardized tests) เป็นแบบทดสอบที่สร้าง โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ในเนื้อหา และมีทักษะการสร้างแบบทดสอบ มีการวิเคราะห์หาคุณภาพของแบบทดสอบ มีคำชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการสอบ การให้คะแนนและการแปลผล มีความเป็นปรนัย (Objective) มีความเที่ยงตรง (Validity) และความเชื่อมั่น (Reliability) แบบทดสอบมาตรฐาน ได้แก่ California Achievement Test, Iowa Test of Basic Skills, Standford Achievement Test และ the Metropolitan Achievement tests เป็นต้น
ส่วนพวงรัตน์ ทวีรัตน์ (2543)  ได้จัดประเภทแบบทดสอบไว้ 3 ประเภท ดังนี้
4.4.3 แบบปากเปล่า เป็นการทดสอบที่อาศัยการซักถามเป็นรายบุคคล ใช้ได้ผลดีถ้ามีผู้เข้าสอบจำนวนน้อย เพราะต้องใช้เวลามาก ถามได้ละเอียด เพราะสามารถโต้ตอบกันได้
4.4.4 แบบเขียนตอบ เป็นการทดสอบที่เปลี่ยนแปลงมาจากการสอบแบบปากเปล่า เนื่องจากจำนวนผู้เข้าสอบมากและมีจำนวนจำกัด แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
        4.4.4.1 แบบความเรียง หรืออัตนัย เป็นการสอบที่ให้ผู้ตอบได้รวบรวมเรียบเรียงคำพูดของตนเองในการแสดงทัศนคติ ความรู้สึก และความคิดได้อย่างอิสระภายใต้หัวเรื่องที่กำหนดให้ เป็นข้อสอบที่สามารถ วัดพฤติกรรมด้านการสังเคราะห์ได้อย่างดี แต่มีข้อเสียที่การให้คะแนน ซึ่งอาจไม่เที่ยงตรง ทำให้มีความเป็นปรนัยได้ยาก
        4.4.4.2 แบบจำกัดคำตอบ เป็นข้อสอบ ที่มีคำตอบถูกใต้เงื่อนไขที่กำหนดให้อย่างจำกัด ข้อสอบแบบนี้แบ่งออกเป็น 4 แบบ คือ แบบถูกผิด แบบเติมคำ แบบจับคู่ และแบบเลือกตอบ
4.4.5 แบบปฏิบัติ เป็นการทดสอบที่ผู้สอบได้แสดงพฤติกรรมออกมาโดยการกระทำหรือลงมือปฏิบัติจริงๆ เช่น การทดสอบทางดนตรี ช่างกล พลศึกษา เป็นต้น
สรุปได้ว่า แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบ่งได้ 2 ประเภท คือ แบบทดสอบมาตรฐาน ซึ่งสร้างจากผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาและด้านวัดผลการศึกษา มีการหาคุณภาพเป็นอย่างดี ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือแบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการทดสอบในชั้นเรียน ในการออกแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคำศัพท์เพื่อการสื่อสาร ผู้วิจัยได้เลือกแบบทดสอบที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น แบบปฏิบัติ ในการวัดความสามารถในการนำคำศัพท์ไปใช้ในการสื่อสารด้านการการพูดและการเขียน  และเลือกแบบทดสอบแบบเขียนตอบที่จำกัดคำตอบโดยการเลือกตอบจากตัวเลือกที่กำหนดให้ ในการวัดความรู้ความเข้าใจความหมายของคำศัพท์ และการนำคำศัพท์ไปใช้ในการฟังและการอ่าน